bumQ

วันศุกร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2556

เที่ยวชัยนาท

ชัยนาท ชาตินี้PDFPrintE-mail
Thursday, 07 July 2011 20:19

 ชัยนาท ... เมืองที่ไม่ใช่แค่ทางผ่าน
ขึ้นหัวเรื่องฟังดูเหมือนจะลาจากโลก
แต่เปล่าเลย เพราะ ชัยนาท เป็นแค่เมืองผ่านสำหรับการเดินทางหลายครั้ง
หนนี้ได้นอนค้างอ้างแรมที่ชัยนาท จึงดีใจที่ไม่ต้องรอไปถึงชาติหน้า
  
 สวนนกชัยนาท สถานที่ซึ่งผู้คนคุ้นชื่อและรู้จัก ทั้งตั้งอยู่บนเส้นทางหลักที่จะเข้าสู่ตัวเมือง การมาเมืองนี้ทั้งธุระส่วนตัวหรือเจตนามาเที่ยว จึงมักไม่ลืมไม่พลาด ด้วยทำเลของเมืองซึ่งอยู่ในที่ราบลุ่ม อันมีแม่น้ำ 3 สายคือ แม่น้ำน้อย เจ้าพระยา ท่าจีน ไหลผ่านพื้นที่ต่าง ๆ ภายในจังหวัด ตะกอนธาตุที่อาศัยมากับแม่น้ำ พลอยทำให้ผืนดินย่านนี้ สะสมธาตุอาหาร ซึ่งเหมาะแก่การเพาะปลูกพืชผลการเกษตรโดยเฉพาะข้าว หนึ่งสาเหตุที่ทำให้นกหลายชนิด ลงหลักปักฐานหากินอย่างถาวรบริเวณนี้ รวมไปถึงนกอพยพบางส่วนที่โยกย้ายมาอาศัยเป็นครั้งคราว จนทางจังหวัดจึงต้องจัดให้มีการจัดงานมหกรรมหุ่นฟางนก เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเป็นประจำทุกปี
   
นอกจากกรงนกขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งบรรจุนกหลากชนิดทั้งสายพันธุ์ไทยและเทศไว้ให้ชมแล้ว ยังมีอาคารพิพิธภัณฑ์ไข่นก อาคารแสดงพันธุ์ปลาลุ่มน้ำเจ้าพระยา อาคารศูนย์วิทยาศาสตร์จำลอง ฯลฯ เรียกว่าตีตั๋วครั้งเดียวเที่ยวคุ้ม ได้เห็นทั้งท้องฟ้า ผืนดิน ลงไปถึงในน้ำ
  
ยอดเขาพลองถัดจากสวนนก เป็นที่ตั้งของ วัดปฐมเทศนาอรัญวาสี หรือ วัดเขาพลอง มีพระพุทธอริยธัมโม พระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตัก 6 วา 1 ศอก 8 นิ้ว มีความสูงรวมฐาน 9 วา 3 ศอก 6 นิ้ว ประดิษฐานอยู่บริเวณเชิงเขา ส่วนด้านบนยอดเขา ซึ่งสามารถนำรถขึ้นไปได้ แต่หากใครจะเดินขึ้นไปก็อยู่ที่ศรัทธาในใจ มีเจดีย์สีทองเหลืองอร่ามบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เป็นจุดที่สามารถชมทัศนียภาพของเมืองได้เต็มตา โดยเฉพาะในช่วงเย็น
  
ลงจากวัด พวกเราเดินทางไปชิมส้มโอพันธ์ขาวแตงกวา ของดีเมืองชัยนาทที่ สวนโชคชัย พี่ชัชชัยและพี่ทัศนีย์ ทับทอง เจ้าของสวน ซึ่งเปลี่ยนสวนมะนาวเป็นส้มโอจนประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงจนทุกวันนี้ พาลงเรือไปตามร่องสวน เก็บส้มโอลูกใหญ่ กลิ่นหอมรสชาติหวานชุ่มคอ มีเปรี้ยวมาแผ่ว ๆ ที่ปลายลิ้นตามประสาส้มโอ
"ส้มโอที่เก็บใหม่ ๆ อย่าเพิ่งกิน ให้เก็บไว้ 7-10 วันก่อนรสชาติจึงจะเข้าที่"
ทั้งสองคนอารมณ์ดีมีความสุข ทั้งยังใจดีเอาส้มโอเก็บใหม่ ๆ ใส่ถุงเป็นของฝากกับทุกคน แม้เกรงใจ... แต่พวกเราก็ยินดีรับไว้
  
...เที่ยวท่องล่องน้ำ...
เรือเจริญศรีนาวาลำใหญ่ ออกจากท่าบ้านสุวรรณาการ์เด้น ล่องตามน้ำมาได้สักระยะ ก็เข้าเทียบท่าที วัดพระบรมธาตุวรวิหาร เดิมเรียก วัดหัวเมืองชัยนาท เมืองชัยนาทในที่นี้หมายถึง เมืองชัยนาทโบราณ ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ใช่เมืองชัยนาทปัจจุบันที่อยู่ฝั่งตะวันออก เหตุที่ตั้งอยู่มุมเมืองด้านทิศเหนือ ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า วัดหัวเมือง ภายในวัดมีพระธาตุเจดีย์ ซึ่งมีพระบรมสารีริกธาตุบรรจุอยู่ ลักษณะเดิมสร้างด้วยศิลาแลงจับกันเป็นก้อนเดียวทั้งองค์ ได้มีการบูรณะมานับแต่สมัยสุโขทัย กรุงศรีอยุธยาและรัตนโกสินทร์ จากหลักฐานต่าง ๆ ที่ขุดพบบริเวณวัดสันนิษฐานว่า องค์พระธาตุเจดีย์สร้างมาแต่ครั้งสมัยขอมเรืองอำนาจในแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทุกปีจะมีงานสมโภชพระธาตุ ในวันเพ็ญเดือน 6 ครั้งนี้พวกเราได้รับโอกาสพิเศษร่วมพิธีห่มผ้าองค์พระธาตุเจดีย์ ทำให้การมาในครั้งนี้รู้สึกเป็นสุขยิ่งนัก
  
วัดพระบรมธาตุวรวิหาร เป็นวัดที่มีเรื่องราวความเป็นมาเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์หลายพระองค์ รวมถึงพระมหาเถราจารย์ในอดีตหลายรูป ได้เดินจากมาศึกษาหาความรู้ที่วัดแห่งนี้ โบราณสถาน โบราณวัตถุ และเรื่องราวมหัศจรรย์ต่าง ๆ อันเกี่ยวเนื่องกับวัด สามารถสอบถามความรู้ได้จากพระคุณเจ้าภายในวัด หากมีโอกาสมาชัยนาทไม่ควรอย่างยิ่งที่จะข้ามสถานที่นี้ไป
ในวัดยังเป็นที่ตั้งของ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี ซึ่งตั้งชื่อเพื่อเป็นที่ระลึกแด่ พระชัยนาทมุนี (นวม สุทัตโต) อดีตเจ้าอาวาส ที่ได้มอบโบราณศิลปวัตถุจำนวนมาก ที่พบในเขตจังหวัดชัยนาทและบริเวณใกล้เคียง ให้เป็นสมบัติของชาติ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี โบราณวัตถุชิ้นสำคัญคือ หลวงพ่อเพชร พระพุทธรูปสำริด ปางมารวิชัย พระพุทธรูปโบราณที่มีลักษณะงดงามและมีเพียงชิ้นเดียวในประเทศ ในปี พ.ศ.2449 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินวัดพระบรมธาตุวรวิหาร ได้ตรัสขอพระพุทธรูปองค์นี้ต่อพระอินทโมลีศรีบรมธาตุบริหารสุวิจารณ์สังฆปาโมกข์ (ช้าง) เจ้าอาวาส ไปไว้ที่กรุงเทพฯ เมื่อพระองค์ทรงเสด็จสวรรคต หลวงพ่อช้างจึงได้นำกลับมาประดิษฐานไว้ที่วัดดังเดิม ต่อมาจึงได้มอบให้กรมศิลปากรเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้
   
ออกจากท่าวัดบรมธาตุ หัวเรือเปลี่ยนทิศแล่นทวนน้ำผ่านตัวเมือง มาขึ้นฝั่งอีกครั้งที่ วัดธรรมามูลวรวิหาร ซึ่งตั้งอยู่บนไหล่เขาธรรมามูล มี หลวงพ่อธรรมจักร พระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองประดิษฐานอยู่ในพระวิหาร เป็นพระพุทธรูปปางห้ามญาติประทับบนฐานดอกบัว สูงประมาณ 4.50 เมตร พระหัตถ์ขวายกขึ้นเหนือพระอุระ มีรูปพระธรรมจักรปรากฏอยู่กลางฝ่าพระหัตถ์ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ ทางจังหวัดได้นำพระธรรมจักรมาเป็นสัญลักษณ์และตราประจำจังหวัด รอบพระอุโบสถ มีใบเสมาคู่ เป็นศิลาทรายสีแดง สลักลวดลายแบบอยุธยา บนยอดเขามีวิหารหลวงพ่อนาค ซึ่งต้องเดินขึ้นบันไดถึง 565 ขั้น ด้วยเป็นวัดที่ตั้งอยู่บนเชิงเขา จึงสามารถมองเห็นทิวทัศน์ด้านล่าง ทุ่งนาสีเขียวตัดกับถนนสีดำ ถือเป็นจุดชมวิวริมแม่น้ำของเมืองนี้อีกแห่ง ในช่วงวันขึ้น 4-8 ค่ำ เดือน 6 และ แรม 4-8 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี จะมีงานนมัสการหลวงพ่อธรรมจักร รวมถึงตักบาตรเทโวและแข่งเรือพาย ในช่วงออกพรรษา
ชิวิตริมน้ำต่างวิถี ทั้งหาปลา ทำนาปลูกข้าว ฯลฯ บางช่วงบางตอนก็พบนกเป็ดน้ำฝูงใหญ่ ตื่นบินขึ้นฟ้าแค่ยินเสียงเครื่องยนต์เรือแต่ไกล ๆ มีเรื่องตระหนกตกใจเล็กน้อยก่อนถึง วัดปากคลองมะขามเฒ่า ในเขต อ.วัดสิงห์ ปลายทางของการล่องเรือวันนี้ เมื่อตัวต่อฝูงใหญ่พากันบินตัดข้ามแม่น้ำตรงมาที่เรือ แต่ก่อนถึงตัวเรือกลับบินหลบออก ไม่ผ่านเข้ามาในลำเรือสักตัวเดียว
  
 สงสัยหลวงปู่จะมารับ หลายคนที่พอทราบประวัติหลวงปู่ศุข กับเรื่องที่สามารถเสกใบมะขามให้เป็นตัวต่อแตน พูดเป็นเสียงเดียวกัน แต่ก่อนจะสรุปเหตุการณ์ พวกเราก็หลบหาที(ซึ่งคิดว่าจะ) กำบัง ด้วยความหวาดกลัวกันไปแล้ว พระครูวิมลคุณากร (ศุข) หรือหลวงปู่ศุข พระเกจิซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นอาจารย์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ผนังภายในพระอุโบสถ มีภาพเกี่ยวกับพุทธประวัติ เป็นภาพเขียนฝีพระหัตถ์ของเสด็จในกรมฯ ซึ่งร่วมเขียนกับข้าราชบริพาร ระบุไว้ว่าเขียนในปี พ.ศ.2433
วัดปากคลองมะขามเฒ่า มีผู้มากราบไหว้และทำบุญอยู่มิได้ขาด ด้วยความศรัทธาและความเชื่อในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงปู่ศุข ด้านหน้าวัดบริเวณปากคลองมะขามเฒ่า ซึ่งเป็นต้นแม่น้ำท่าจีน ได้จัดให้เป็น ตลาดต้นน้ำท่าจีน มีของกินอร่อยและสินค้าของฝากจากชุมชนต่าง ๆ ให้ช็อปชิมริมน้ำในแบบอิ่มท้องสบายกระเป๋า
  
...เที่ยววัดเมืองสรรคบุรี...
วัดมหาธาตุ ต.แพรกศรีราชา อ.สรรคบุรี เคยเป็นศูนย์กลางของเมืองสรรค์ เมืองชั้นลูกหลวงของกรุงศรีอยุธยา ในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 20 วัดแห่งนี้จึงมีโบราณวัตถุสถาน พระพุทธรูปทั้งในแบบศิลปะลพบุรีและอยุธยาตอนต้น เช่น หลวงพ่อหลักเมือง ที่ชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อหมอ ประดิษฐานคู่หลักเมืองสรรค์ในวิหารคด พระพุทธสรรค์สิทธิ พุทธศิลป์แบบสุโขทัยอายุกว่า 700 ปี หลวงพ่อทองดำ อายุกว่าพันปี ซึ่งคนมักชอบมาบนบานและแก้บนด้วยรำกลองยาว ชาวบ้านจึงพากันเรียกว่า หลวงพ่อทองดำ ชอบรำกลองยาว ภายในวัดยังมีพระปรางค์ทรงกลีบมะเฟือง ซึ่งพบที่นี่และเมืองลพบุรี สำหรับคนชอบแนวโบราณสถานเก่า เชื่อว่าสามารถอยู่ศึกษา เดินถ่ายรูป ได้เป็นวัน ๆ
  
   
เราไปต่อกันที่ วัดพระแก้ว ห่างกันไม่ไกลซึ่งในเขต ต.แพรกศรีราชา เช่นกัน เดิมชื่อวัดป่าแก้ว เมื่อมีคนพบพระพุทธรูปในเจดีย์ สร้างจากแก้วองค์เล็กเท่าปลายนิ้วมือ เมื่อต้องแสงไฟจะส่องเป็นประกายสวยงาม จึงเรียกกันเสียใหม่ว่าวัดพระแก้ว เป็นวัดที่มีองค์เจดีย์ฐานสี่เหลี่ยมทรงสูง ในทางโบราณคดีถือเป็นสถาปัตยกรรมอันล้ำค่า ซึ่งมีความงดงามสมบูรณ์ยิ่ง ด้านหน้าพระเจดีย์มี หลวงพ่อฉาย พระพุทธรูปแกะจากศิลาทราย 5 ชิ้นต่อกันแล้วฉาบด้วยปูน เดินประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง แต่ปัจจุบันได้สร้างวิหารครอบไว้ ด้านหลังองค์หลวงพ่อมี ทับหลัง ศิลาทรายจำหลักรูปพระอิศวรทรงช้างเอราวัณอยู่ในซุ้มเรือนแก้ว นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า ช่วงขอมเสื่อมอำนาจคงมีผู้นำศิลาทรายที่จำหลักลายออกมาแกะเป็นพระพุทธรูป แต่ได้หงายเศียรช้างเอางวงขึ้นด้านบน เหมือนจะสื่อเป็นปริศนาธรรมว่า ผู้ที่ฝึกปฏิบัติตนทวนกระแสแห่งโลภ โกรธ หลง อันเป็นกิเลสครองใจมนุษย์ จึงจะสำเร็จธรรมสูงสุดดั่งองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า
...ชุมชนลาวครั่ง...
บ้านกุดจอก อ.หนองมะโมง เป็นชุมชนลาวครั่ง ชาติพันธุ์ที่โยกย้ายถิ่นฐานจากฝั่งลาวมาตั้งรกรากอยู่เมืองไทยเป็นเวลานาน คำว่า ลาวครั่ง มีผู้สันนิษฐานว่า เป็นกลุ่มที่เคยตั้งถิ่นฐานอยู่บนเขตภูคัง ประเทศลาว จึงถูกเรียกว่า ลาวคังหรือลาวครั่ง แต่บ้างก็ว่า ในสมัยที่อพยพกันมาต้องประสบกับภาวะขาดแคลนกระทั่งเครื่องมือหากิน จึงต้องเลี้ยงครั่งสำหรับย้อมผ้า เพราะไม่ต้องใช้เครื่องมืออะไร ทำให้ถูกเรียกว่า ลาวขี้ครั่งหรือลาวครั่ง ในที่สุด โดยมีสีแดงที่ย้อมจากครั่ง เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของสิ่งทอในกลุ่มวัฒนธรรมลาวครั่ง หมู่บ้านที่เรียกตนเองว่าลาวครั่ง ได้แก่ หมู่บ้านกุดจอก อ.หนองมะโมง จ.ชัยนาท และ บ้านโคกหม้อ อ.ทัพทัน จ.อุทัยธานี ซึ่งเป็นชุมชนที่แยกไปจากหมู่บ้านกุดจอก โดยทั้งสองหมู่บ้านบอกว่ามีบรรพบุรุษมาจากเมืองหลวงพระบาง
  
วัดศรีสโมสร ถือเป็นศูนย์กลางของชุมชน และได้จัดทำ พิพิธภัณฑ์ลาวครั่ง โดยใช้พื้นที่ศาลาภายในวัด รวบรวมเรื่องราวความเป็นมา ข้าวของเครื่องใช้ ประเพณีความเชื่อ อันแสดงอัตลักษณ์ของชุมชนลาวครั่งไว้ให้ลูกหลานและผู้ที่สนใจได้เข้ามาศึกษา เสร็จจากพิพิธภัณฑ์แล้วยังเดินทางต่อเข้าไปในหมู่บ้าน ดูการทอผ้าพื้นเมือง งานจักสาน การทำสมุนไพร ตบท้ายด้วยนวดแผนโบราณคลายปวดเมื่อย ด้วยฝีมือ... คุณยายกายสิทธิ์
พวกเราจบทริปชัยนาทในชาตินี้ ด้วยการลงเรือล่องไปในบึงกระจับใหญ่ หรือเกาะเมืองท้าวอู่ทอง ในเขต อ.หันคา ชมนกนานาชนิดโผคืนรัง ในเวลาฟ้าเปลี่ยนสี
....บุญรักษา คุณพระคุ้มครอง เจริญสุขทุก ๆ ท่านครับ....
  

ขอขอบคุณ

Smile งานสื่อมวลชนสัมพันธ์ภายในประเทศ กองประชาสัมพันธ์ในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

Laughing การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานสุพรรณบุรี (สุพรรณบุรี ชัยนาท อ่างทอง)
โทร. 0 3553 6030, 0 3553 6189 เว็บไซต์: www.suphan.net
Wink พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี เปิดให้เข้าชมในวันพุธ อาทิตย์ ระหว่างเวลา 09.00-16.00 น. ปิดวันจันทร์-อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์
โทร.0 5640 5621
Embarassed เรือเจริญศรีนาวา
โทร.0 5647 7789 90 เว็บไซต์ www.suwannagaden.com
Kiss พิพิธภัณฑ์ลาวครั่งและกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านกุดจอก
โทร. 0 5646 6068, 08 9969 4518
Sealed ส้มโอสวนโชคชัย
โทร. 08 1379 9166

1 ความคิดเห็น: